ประเทศไทยกำลังเตรียมตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดยมีระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นตัวนำร่อง




ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเตรียมตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดยมีระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นตัวนำร่อง ระบบนี้จะเข้ามามีบทบาทกับคนไทยและสังคมไทยอย่างไร ในบทความนี้ ดร. รัฐศาสตร์ กรสูต ผอ.อาวุโส สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ และมุมมองต่อแวดวงการเงินว่า


สำหรับประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มของการเป็น Cashless Society อย่างเห็นได้ชัด โดยไทยมีกฎหมายธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นประเทศแรก ๆ ในแถบอาเซียน โดยมีการนำแม่บทกฎหมาย e-Commerce Law ของสหประชาชาติมาปรับใช้และร่างเป็นกฎหมายของประเทศไทยชื่อว่า พรบ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกาศใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 โดยเป็นกฎหมายที่รองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการประกอบธุรกรรมใด ๆ ทางออนไลน์ ตลอดจนข้อความยืนยันการซื้อขายทางอีเมล ไลน์ หรือข้อความอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ นั้น ให้สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ทางกฎหมายได้

หากย้อนไปเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยยังถือว่ามีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างน้อย ด้วยอินเทอร์เน็ตที่เริ่มเข้ามาในช่วง พ.ศ. 2538 ในช่วงเวลานั้นความเร็วของระบบยังรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตได้ไม่มากนัก รวมถึงเรื่องของความปลอดภัยยังน้อยอยู่ การใช้อินเทอร์เน็ตในสมัยนั้นจึงเป็นเรื่องของ Lifestyle เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับในปัจจุบันที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ 2 หลักต่อปี เนื่องมาจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Internet) ซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยพื้นฐานของบ้านเรา และพฤติกรรมการใช้โซเซียลมีเดีย (Social Media) ของคนไทยมีผลต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหมู่วัยรุ่นอีกต่อไป แต่ยังขยายไปถึงกลุ่มผู้ใหญ่ (Baby Boomer) ที่เข้ามาใช้งานในโลกโซเซียลมากขึ้นด้วย และนั่นย่อมหมายถึงการทำธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

อีกส่วนหนึ่ง คือ ในเรื่องของมูลค่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างทวีคูณ จากปี พ.ศ. 2556 ที่มีประมาณ 7.68 แสนล้านบาท เป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2557 เติบโตขึ้นมากถึง 165 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งมีการเติบโตเฉลี่ยของการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพียงแค่ 1 ดิจิตเท่านั้น ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ประการแรก คือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และสองคือ การขยายตัวทางการลงทุนในธุรกิจ e-Commerce ในประเทศไทย จากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งพบว่าคนไทยในช่วง Gen X จะมีการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์สูงสุด โดยมีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการทำธุรกิจและธุรกรรมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่กลุ่ม Baby Boomer นั้นพบว่ามีการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการซื้อตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พักต่าง ๆ สำหรับการเดินทางและท่องเที่ยว

การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ Cashless Society


จากการเปลี่ยนแปลงจากกระแสดิจิทัล (Wave of Digital Disruptive) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตสื่อในรูปแบบเทปและซีดี เริ่มเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัล การเพิ่มจำนวนขึ้นของสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จากสิ่งพิมพ์ไปสู่ดิจิทัลในช่วง พ.ศ. 2548 หรือแม้กระทั่งการค่อย ๆ ประกาศปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลไปถึงวงการการเงินที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากในรูปแบบการใช้เงินกระดาษไปสู่เงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นซึ่งเห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน และคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค Cashless Society หรือยุคสังคมไร้เงินสด ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2563 ในที่สุด และสำหรับประเทศที่มีนโยบาย Cashless Society อย่างเต็มตัว เช่น ประเทศสวีเดน ที่เป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่ได้ประกาศเลิกใช้เงินสดทั้งประเทศ และหันไปใช้ระบบการเงินแบบดิจิทัลเข้ามาทดแทนเป็น Cashless Society อย่างเต็มตัว ก็ถือเป็นตัวอย่างของ Cashless Society ได้เป็นอย่างดี

การปรับตัวของสถาบันการเงินและ e-Commerce


เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยน ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในยุคไร้พรมแดนที่ผู้บริโภคสามารถซื้อ-ขายสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ ปัจจุบันสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมไปถึงผู้ให้บริการ เริ่มเข้ามาในตลาดออนไลน์มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในรูปแบบของ Internet banking, การโอนเงินผ่านระบบบาทเนต (สำหรับการโอนเงินครั้งละมาก ๆ), การใช้บัตรแทนเงินสด ตลอดจนการให้บริการในรูปแบบของ e-Money โดยเฉพาะ e-Money นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับธุรกรรมออนไลน์และ e-Commerce เลยก็ว่าได้ โดยเราพบว่า e-Money มีการเติบโตรวดเร็วมาก โดยเติบโตเฉลี่ย 2 ดิจิตต่อปีต่อเนื่องมาตลอด และมีอัตราการเติบโตสะสม (CAGR) จากช่วงปี 53-58 สูงสุดถึง 31เปอร์เซ็นต์ และในปีล่าสุด (2558) เติบโตสูงถึง 21 เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดเมื่อเทียบกับรูปแบบของการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบอื่น

พร้อมเพย์ และความพร้อมของประเทศไทยในการเป็น Cashless Society


สำหรับประเทศไทย ในหลายภาคส่วนมีความพยายามส่งเสริมและสนับสนุนการเป็น Cashless Society มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น e-Payment จากค่ายโทรศัพท์มือถือ หรือ e-Payment ที่มาในรูปแบบของบัตรโดยสาร และสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ล่าสุดอีกสิ่งหนึ่งก็คือ การพัฒนาระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการดำเนินการภายในระยะเวลาอันสั้น และยังเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่จะมารองรับการเป็น Cashless Society ของประเทศไทยในอนาคต

โครงการพร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นหนึ่งในแผนแม่บท National e-Payment ของชาติ เพื่อผลักดันประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลไร้เงินสด (Cashless Society) โดยระบบพร้อมเพย์ เริ่มเปิดใช้งานแล้วในปัจจุบัน หลังจากที่มีการเปิดรับลงทะเบียนข้อมูลไปในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา “พร้อมเพย์” นี้จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมการโอนให้ถูกลง พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถรองรับการเติบโตของ e-Commerce ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้แผนแม่บท National e-Payment ของภาครัฐนั้น ยังมีในเรื่องของการขยายเครื่องรับชำระบัตร การพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีและใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการจ่ายเงินของภาครัฐให้เป็นรูปแบบ e-Payment ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป

สำหรับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (Electronic Transactions Development Agency (Public Organization)) หรือ ETDA นั้น เป็นสำนักงานพัฒนาและส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ทั้งในด้านการวางมาตรฐานข้อมูลและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย เพื่อรองรับและสนับสนุนกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจในการใช้ e-Commerce มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับประเทศไทยในการปรับตัวเข้าสู่ยุค Cashless Society ในอนาคตนั่นเอง

ความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์


คงต้องบอกว่าในโลกนี้ไม่มีความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดได้ สำหรับในปัจจุบันนั้นการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ถือว่ามีความปลอดภัยมากกว่าออฟไลน์ เนื่องจากการถือเงินสดนั้นมีความเสี่ยงค่อนข้างมากด้านความปลอดภัย ในขณะที่การทำธุรกรรมออนไลน์จะมี protocol รองรับมากมาย เพื่อยืนยันการทำธุรกรรมนั้น ๆ ซึ่งมีการใช้กันมานานและพัฒนาระบบเพื่อลดช่องว่างและเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า ผู้ใช้มีความเข้าใจในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น เช่น การตั้งรหัสควรตั้งให้มีความยากในการคาดเดาเพื่อป้องกันการโจรกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีนโยบายลดการใช้รหัสผ่าน โดยจะใช้รูปแบบการยืนยันตัวตนอย่างอื่นแทน เช่น การใช้ลายนิ้วมือ ตา เสียง เฉพาะของบุคคล หรือการใช้ OTP (One Time Password) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้

การเตรียมพร้อมของ e-Commerce สู่ Cashless Society


หลายคนอาจมองว่าเรื่อง Cashless Society นั้นเป็นเรื่องของกระแส แต่ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงและเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจและทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น ที่แม้แต่หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและ EU ต่างก็เร่งผลักดันให้หลายประเทศทั่วโลกนำระบบ Cashless Society เข้ามาใช้ เพื่อปรับลดปัญหาการฟอกเงินและการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยต่าง ๆ

อีกประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นของการเสียโอกาสทางธุรกิจหากเราไม่ปรับตัว เนื่องจากอัตราการแข่งขันทางธุรกิจในโลกออนไลน์มีเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศเท่านั้น การทำธุรกรรมออนไลน์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ให้บริการ e-Commerce ควรปรับตัวให้ทันและมีการรองรับให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มและป้องกันการเสียโอกาสทางธุรกิจอีกด้วย มากไปกว่านั้นในเรื่องของการใช้ทรัพยากรนั้น Cashless Society จะสามารถช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก เช่น ต้นทุนการผลิตธนบัตร เงินเหรียญต่าง ๆ ตลอดจนต้นทุนกระดาษเอกสารต่าง ๆ และยังเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคตต่อไป

Cashless Society จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรให้ความสนใจ และปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม และรายละเอียดข่าวสาร สาระน่ารู้ด้านการเงินและอีคอมเมิร์ซ เพิ่มเติมได้ที่ Plearn เพลิน by Krungsri Guru

ความคิดเห็น